กลัว!!เบาหวาน…..ดื่มเครื่องดื่มหวานๆ ได้ไหม และควรดื่มอะไรดี?

(กลัว)เบาหวาน ดื่มเครื่องดื่มหวานๆ ได้ไหม
ดื่มอะไรดี?

          เวลาตรวจผู้ป่วยเบาหวาน คำถามหนึ่งที่จะถูกถามคือ
กินของหวานได้ไหม บางครั้งเวลาญาติอยู่ด้วยจะมีการฟ้องหมอว่าผู้ป่วยแอบกินหวาน แอบกินขนมน้ำหวานแล้วทำให้น้ำตาลขึ้น

เบาหวานไม่ใช่แค่กินน้ำตาล
          เบาหวานคือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของอินซูลิน อินซูลินเป็นฮอร์โมรนที่ช่วยในการดึงเอาน้ำตาลในเลือดเข้าเซลล์ ถ้าไม่มีฮอร์โมนนี้ร่างกายก็ใช้พลังงานได้ไม่ดี ส่วนระดับน้ำตาลที่สูงก็คือผลที่ตามมา
          ในเบาหวานชนิดที่ 1 คือร่างกายขาดฮอร์โมนนี้ ส่วนเบาหวานชนิดที่ 2 ร่างกายมีฮอร์โมนนี้แต่ว่าการใช้งานเสียไป โดยมักเกิดร่วมกับความอ้วน
          ดังนั้นในผู้ป่วยบางคนที่เป็นเบาหวานมากๆ บางคน ต่อให้ไม่กินของหวานเลย กินแต่อาหารตามปกติ น้ำตาลในเลือดก็สูงอยู่ดี

การเลือกกินเลือกดื่มของผู้ป่วยเบาหวาน
          ปัญหาของเบาหวาน จริงๆ เริ่มมาจากการได้รับพลังงานเข้าไปในร่างกายมากเกินไป พอมากไปก็ไปสะสมเป็นไขมัน แล้วไขมันก็กลับไปทำให้ฮอร์โมนอินซูลินทำงานได้ไม่ดีเป็นวัฏจักร ดังนั้นถ้ากินอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย น้ำหนักขึ้น อ้วนขึ้น แม้ว่าจะไม่กินของหวานเลย เบาหวานก็อาจจะไม่ดีขึ้นก็ได้
          คนที่เป็นเบาหวานไปรักษาในโรงพยาบาลจึงมักจะได้รับการส่งไปเรียนที่คลินิกเบาหวาน โดยพยาบาลหรือนักกำหนดอาหารจะสอนเรื่อง “อาหารแลกเปลี่ยน” ซึ่งเป็นการสอนการกินแต่พอดี และสลับสับเปลี่ยนอาหารให้หลากหลายไม่เบื่อ
          ซึ่งหากเราสังเกตจะพบว่า ในอาหารบางชนิดที่สอน ก็มีผลไม้ที่หวานๆ อยู่ด้วย เพียงแต่ว่าปริมาณที่กินได้ก็จะน้อยกว่าอาหารแบบอื่น และหากวันไหนกินผลไม้หวานๆ หรือขนมหวานเข้าไปก็ต้องตักข้าวออกในปริมาณพลังงานที่ใกล้เคียงกัน

งั้นเป็นเบาหวานดื่มเครื่องดื่มรสหวานได้ไหม
          คำตอบคือ ดูที่ปริมาณน้ำตาล หรือพลังงานที่ได้รับค่ะ
          ประการแรก เราไม่ควรตัดสินที่รสชาติหรือความหวานอย่างเดียว
เพราะเครื่องดื่มหลายชนิดที่มีรสชาติหลักคือขม เช่น ชาหรือกาแฟ
เมื่อใส่น้ำตาลเข้าไปจะทำให้เกิดความหวานน้อยกว่าปกติ การจะให้หวานได้มากก็ต้องใส่น้ำตาลเข้าไปมากๆ ดังนั้นหากตัดสินแค่รสชาติอย่างเดียวก็จะได้รับน้ำตาลมากกว่าปกติ
          ประการที่สอง เราไม่ควรเชื่อคำโฆษนาที่แปะที่หน้าผลิตภัณฑ์ไปทั้งหมด เพราะเครื่องดื่มที่วางขายในท้องตลาด จะมีการใช้คำเพื่อชักชวานคนให้ดื่มในรูปแบบต่างๆ กัน เช่น ระบุว่า “ไม่มีน้ำตาล”
(แต่ไขมันเพียบ) “หวานน้อย” (แต่พอดูปริมาณน้ำตาล โอ้! ไม่น้อยนะ) “ไขมันต่ำ” (ไขมันต่ำแต่น้ำตาลสูง) บางชนิดไม่ได้พูดถึงน้ำตาลในชื่อน้ำตาล แต่เปลี่ยนชื่อสารอื่น เช่น ฟรุคโตส คอร์นไซรัป น้ำผึ้ง ซึ่งก็เป็นน้ำตาลอยู่ดี
          ดังนั้นเวลาจะเลือกซื้อสินค้าที่เป็นเครื่องดื่ม ก็ควรเลือกชนิดที่ไม่ให้พลังงานหรือให้พลังงานต่ำ... เอาต่ำแค่ไหน... สำหรับคนที่เป็นเบาหวาน เราอาจจะเลือกที่ตัวเลขไม่เกิน 60 กิโลแคลอรี่ซึ่งเท่ากับค่าอาหารแลกเปลี่ยนในหมวดผลไม้

เครื่องดื่มไหนควรระวัง เครื่องดื่มไหนดื่มได้ คนเป็นเบาหวาน มีทางเลือกแบบไหน
          1. น้ำเปล่า ดื่มได้แน่นอน ถ้าเป็นน้ำสะอาดเปล่าๆ ดื่มดับกระหายไม่ให้พลังงานอยู่แล้วไม่ต้องกังวล
          2. โซดา น้ำเปล่าอัดแก็ส ไม่มีแคลอรี่ ดื่มไปเลย แช่เย็นยิ่งอร่อย
ซึ่งในบางคนที่ติดน้ำอัดลมก็แนะนำว่าให้ซื้อโซดามาผสมกับน้ำเปล่าจากนั้นแช่ไว้ในตู้เย็น เลากระหายน้ำมากๆ แล้วจะมาดื่ม เราก็จะได้ไม่ต้องไปหยิบเอาน้ำหวานมาแต่หยิบเอาน้ำอัดลมปราศจากแคลอรี่นี้มาดื่มแทน
          3. น้ำมะนาว มะนาวเป็นผลไม้ที่ให้รสชาติเปรี้ยว การผสมลงไปในน้ำหรือโซดาแช่เย็น จะทำให้ได้เครื่องดื่มดับกระหายที่แคลอรี่ต่ำ และที่ผมพูดถึงน้ำมะนาวโซดา เพราะว่าประเทศไทยยังมีพื้นที่ที่ใช้น้ำบาดาลหรือน้ำบ่อในครัวเรือน... การใส่มะนาวลงในน้ำเหล่านี้จะทำให้น้ำมีรสชาติดีขึ้น
          4. น้ำผักน้ำผลไม้แยกกาก ในกลุ่มนี้รวมไปถึงน้ำผลไม้ที่ทำจากน้ำผลไม้เข้มข้น กลุ่มนี้คือน้ำที่ที่ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยงรวมไปถึงคนที่ยังไม่ได้เป็นเบาหวานก็ควรระวัง เพราะว่าการไม่มีกากใยจากผลไม้เลยมีแต่น้ำ ทำให้เครื่องดื่มกลุ่มนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “น้ำหวาน”ไม่ใช่ผลไม้ และมีงานวิจัยบางชิ้นที่ระบุว่าการดื่มน้ำผลไม้ในประเภทนี้อาจจะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นเบาหวานอีกด้วย
          5. น้ำผลไม้ไม่แยกกาก ความหมายในกลุ่มนี้คือการเอาส่วนที่กินได้ของผลไม้ มาปั่นรวมกันแล้วไม่กรองกาก ไม่เติมน้ำตาล ถ้าเป็นแบบนี้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถดื่มได้ค่ะ โดยอย่าลืมว่าปริมาณที่ดื่มจะต้องนับอยู่ในสัดส่วนอาหารแลกเปลี่ยน 1 ส่วนเหมือนกับเวลาจะกินผลไม้นั่นเองซึ่งโดยส่วนใหญ่ 1 ส่วนอาหารแลกเปลี่ยนของน้ำผลไม้ 100%  จะมีปริมาณ 80 -120 มล. (ครึ่งแก้ว)
          6. น้ำอัดลมชนิดใส่น้ำตาล ผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรดื่ม เพราะว่ามักจะได้แค่น้ำตาลเป็นพลังงานอย่างเดียว ไม่ได้คุณค่าจากวิตามินเกลือแร่ แถมไม่ว่าจะซื้อแบบกระป๋องหรือขวดถ้าดื่มหมดก็มักมีปริมาณน้ำตาลสูงเกินไปทั้งสิ้น
          7. กาแฟ กาแฟที่ผู้ป่วยเบาหวานดื่มได้แบบไม่ต้องกังวลคือกาแฟดำผสมน้ำที่ไม่ใส่ครีมเทียมหรือน้ำตาล หรือชนิดที่ใส่กาแฟแล้วผสมสารทดแทนความหวาน.. ทั้งนี้ควรดูที่ฉลากโภชนาการดีๆในกาแฟที่ใส่ครีมเทียมหรือนม เพราะว่าบางชนิดไม่มีน้ำตาลจริงๆแต่ว่าได้พลังงานจากไขมันในครีมเทียมหรือนมที่เค้าผสมมามาก
          สำหรับคนที่เบื่อการกินกาแฟดำเปล่าๆ ก็อาจจะใช้กาแฟผสมน้ำร้อนแล้วเติมผงอบเชยลงไปนิดนึงให้มีกลิ่นหอมๆ ได้ค่ะ
          8. นมเปรี้ยว นมเปรี้ยวส่วนใหญ่มักผสมน้ำตาล ถ้าจะดื่มให้ระวังและสังเกตที่ฉลากโภชนาการให้ดี ถ้าต้องการคุณค่าจากจุลินทรีย์ ก็อาจจะเปลี่ยนไปรับประทานโยเกิร์ตชนิดน้ำตาลต่ำที่ทำจากนมพร่องมันเนยก็ได้
          9. นม ถึงแม้ว่าในนมจะมีน้ำตาลแลคโตสอยู่ตามธรรมชาติแต่นมเป็นเครื่องดื่มที่ให้คุณค่าของโปรตีนและหลายชนิดมีการเสริมแคลเซียมลงไป ผู้ป่วยเบาหวานก็สามารถดื่มได้โดยคิดตามสัดส่วนอาหารแลกเปลี่ยนตามปกติ โดยนมที่ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกดื่มก็คือนมพร่องมันเนยหรือนมขาดมันเนยชนิด จืด และหลีกเลี่ยงนมรสหวาน เพราะว่าจะได้รับพลังงานจากน้ำตาลที่เติมลงไปมากเกินไป
          10. ชา และนานาพืชสมุนไพร ชาและพืชสมุนไพรหลายชนิดไม่ว่ากระเจี๊ยบ ใบเตย เก๊กฮวย ฯลฯ ถ้าเราต้มแล้วดื่มเองแล้วอยากได้รสหวาน ก็สามารถผสมสารให้ความหวานลงไปเองได้ (ปัจจุบันมีให้เลือกหลายชนิด ไม่ว่าในกลุ่ม แอสปาแตม สพีเวีย ซูคราโลส อะเซซัลเฟม – เค ฯลฯ หลายยี่ห้อ)
          11. เครื่องดื่มแคลอรี่ต่ำ ปัจจุบันมีเครื่องดื่มที่วางตามท้องตลาดหลายชนิดหลายรสชาติที่ให้รสชาติของผลไม้หรือเครื่องดื่มนั้นๆ แต่ว่าใช้สารทดแทนความหวานแทน ทำให้พลังงานที่ได้รับไม่สูงมาก เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่อยากดื่มน้ำผลไม้แต่ไม่อยากได้น้ำตาลเยอะ ซึ่งก่อนดื่มทุกครั้งให้ดูที่พลังงานที่ได้รับว่าไม่ควรมากเกิน
60 กิโลแคลอรี่
          12. น้ำอัดลมชนิดปราศจากน้ำตาล ในปัจจุบันมีหลายยี่ห้อ (แต่น่าเสียดายมีน้อยรสไปหน่อย) ซึ่งหากต้องการคุมระดับน้ำตาลหรือความอ้วนก็สามารถใช้เครื่องดื่มนี้ได้ แต่ทั้งนี้ก็อย่าดื่มากจนเกินไปเพราะมีบางงานวิจัยที่สงสัยว่าอาจจะทำให้ติดรสชาติหวานได้
          13. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่มีน้ำตาล แต่แคลอรี่เพียบนะค่ะ อันนี้ไม่ควรดื่ม
          จะเห็นว่าในตัวอย่างเครื่องดื่มที่ยกมาให้ ผู้ที่เป็นเบาหวานก็มีทางเลือกมามาย ไม่ใช่ว่าจะต้องใช้ชีวิตอยู่กับรสชาติจืดเพียงอย่างเดียว การเรียนรู้และทำความเข้าใจในเครื่องดื่ม รวมทั้งสัดส่วนอาหารแลกเปลี่ยนก็จะช่วยให้ผู้ที่เป็นเบาหวานใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้นค่ะ
_____________________________________________________
Data from: Google.com
Images form: ThaiJobsGov
 
ใหม่กว่า เก่ากว่า